เห็ดหูหนู

เห็ดหูหนู (Tree Ear) หรือ เห็ดหูชัวะ, เห็ดหูหนูจีน   ชื่อวิทยาศาสตร์: Auricularia auricula Judae.  วงศ์: Auriculariaceae เป็นเห็ดชนิดหนึ่งในหลายชนิด ที่นิยมบริโภค และยังถือว่าเป็นยารักษาโรคอีกด้วย ดอกเห็ดมีลักษณะเป็นแผ่นวุ้น คล้ายหูของหนู ไม่มีกลีบดอก มีก้านสั้นมากหรือไม่มี เกิดขึ้นได้ดีในสภาพธรรมชาติที่มีอากาศร้อนชื้น เห็ดหูหนูสามารถเกิดขึ้นเองได้ตามขอนไม้ทั่วไปในช่วงฤดูฝนโดยเจริญออกมาจากขอนไม้หรือเปลือกไม้ที่ตายแล้ว สีน้ำตาลแดง รูปพัดไม่มีด้าม กว้าง 2-6 เซนติเมตร หนา 1-2 มิลลิเมตร ผิวด้านบนเรียบและหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวด้านล่างสีอ่อนกว่า มีขนสั้นละเอียด และมีรอยจีบย่นหยักเป็นแผ่นรัศมีออกไปจากโคนที่ยึดติดกับขอนไม้เมื่อตัด เนื้อเห็ดตามขวางจะปรากฏมี 6 แถบ สปอร์ รูปไส้กรอก ใส ไม่มีสี ขนาด 5-6 x 13-15 ไมโครเมตร ผิวเรียบ ก้านสปอร์รูปทรงกระบอก

เริ่มแรกการเพาะเห็ดหูหนู กระทำโดยเอาไม้ที่เห็ดหูหนูชอบขึ้น เช่น ไม้แค ไม้ขนุน ไม้ฝรั่ง ไม้มะม่วง ตัดเป็นท่อน มากองสุมรวมกัน จนไม้ผุ แล้วหาท่อนไม้ที่มีเห็ดหูหนูเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มากองสุมรวม เมื่อเข้าฤดูฝนเห็ดหูหนูก็จะเกิดขึ้นมา สามารถเก็บผลผลิตได้ ต่อมาในปัจจุบันมีการพัฒนาทางวิชาการสามารถแยกเชื้อเห็ดหูหนูได้ และมีการขยายเชื้อให้เหมาะสม สามารถเจาะใส่ลงไปในเนื้อไม้ ทำให้ได้ผลผลิตที่แน่นอนตรงตามความต้องการของผู้ผลิต ไม้ที่ใช้เพาะเห็ดหูหนูควรเป็นไม้เนื้ออ่อน เพราะจะให้ผลผลิตมากและเร็ว แต่ไม้เนื้อแข็งสามารถเก็บผลผลิตได้นานกว่า ส่วนไม้ที่นิยมใช้กันมากคือ ไม้แค ไม้ทองหลาง ไม้มะม่วง ไม้นนทรีย์ ไม้ขนุน ไม้ทองกวาว ไม้ยางพารา ไม้ก้ามปู ฯลฯ  นอกจากนี้ในปัจจุบันยังนิยมเพาะเห็ดหูหนูในถุงพลาสติกด้วยอาหารขี้เลื่อยอีกด้วย

การเพาะเห็ดหูหนูในถุงพลาสติก นิยมใช้แบบแขวน โดยเปิดฝาครอบออก ถอดจุกสำลี คอพลาสติกออกแล้วรวบปากถุงรัดยางให้แน่น ใช้มีดกรีดข้างถุงในลักษณะเฉียงลง ยาวประมาณ 6 - 8 เซนติเมตร โดยรอบประมาณ 10 - 20 แนว วางก้อนเชื้อเห็ดหูหนูบนแป้นพลาสติกซึ่งร้อยด้วยเชือกพลาสติกเรียงซ้อนเป็นชั้น หรือผูกเชือกกับปากถุงร้อยเรียงกันได้ประมาณ 10 ก้อน แล้วนำแขวนกับราว

โรงเรือนเปิดดอกถุงเห็ดหูหนูควรเป็นหลังคาจากหรือแฝก ขนาดเหมาะสมกับจำนวนก้อนเชื้อ เพื่อรักษาความชื้น การถ่ายเทอากาศให้พอดี ระบายน้ำได้ดี ภายในโรงเรือนเปิดดอกต้องสะอาด พื้นควรปูด้วยทราย หรือหิน เกล็ดเล็ก ด้านข้างทำด้วยพลาสติกสานปล่อยลอยชาย จะทำให้สะดวกต่อการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น การระบายอากาศ
นอกจากนี้ควรมีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำให้เกิดดอกได้ดี

การรดน้ำ ควรให้น้ำแบบเป็นฝอย จำนวนครั้งในการให้น้ำขึ้นกับความชื้นในบรรยากาศ ถ้าอากาศแห้ง ร้อน ต้องเพิ่มจำนวนครั้งมากขึ้น ไม่ควรให้น้ำขังในก้อนเนื้อ โดยเห็ดหูหนูต้องการความชื้นในโรงเรือนค่อนข้างสูง ประมาณ 80 - 95 เปอร์เซ็นต์

ปัญหาการเพาะเห็ดหูหนูที่พบบ่อยคือไร่ไข่ปลา  และราเขียวและราอื่นกินเส้นใยเห็ดในถุงซึ่งทำความเสียหายอย่างมาก ทำให้ผลผลิตน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเหมือนกับที่พบในเห็ดขอนขาว การแก้ปัญหาต้องรักษาความสะอาดทุกขั้นตอน ผู้ผลิตเชื้อบนเมล็ดข้าวฟ่างต้องมีแว่นขยายคอยตรวจตัวไรระยะต่าง ที่อาจปะปนอยู่บนใยเห็ดที่เลี้ยงบนวุ้น และผู้ผลิตเชื้อถุงขี้เลื่อยก็ต้องตรวจเชื้อในข้าวฟ่างอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีไรและราเขียวติดอยู่ จะได้ไม่แพร่เชื้อออกไป
เห็ดหูหนูนอกจากจะรับประทานอร่อยแล้วก็ยังมีประโยชน์มากมาย มีสารอาหารหลายตัวทั้งธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียม วิตามินซี และโปรตีน  อีกทั้งเห็ดหูหนูยังมีสรรพคุณช่วยลดความข้นของเลือด เพราะมีสารอะดีโนซีนซึ่งเป็นสารตัวเดียวกับที่มีในกระเทียมและหอมหัวใหญ่ ช่วยลดความเหนียวข้นของเลือดจึงช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตันทำให้เลือดไม่เป็นลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมอง หรือเส้นเลือดที่อวัยวะอื่นๆ

นอกจากนี้เห็ดหูหนู ยังมีสรรพคุณช่วยบำรุงกระเพาะ สมอง หัวใจ ปอด ตับ แพทย์แผนจีนใช้เป็นอาหารบำรุงไตให้แข็งแรง ลดไข้ แก้ไอ กระตุ้นการทำงานของลำไส้ ช่วยบำรุงร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ กระจายโลหิต แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ต้มกับน้ำตาลกรวดจิบแก้ไอ
Article Credit : กรมวิชาการเกษตร l มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น