ประโยชน์ของเห็ดนานาชนิด




            เห็ด เป็นแหล่งอาหารโปรตีนจากธรรมชาติ ที่มีวิวัฒนาการมาจากการประสานเส้นใยจำนวนมากของเชื้อราชั้นสูง และถึงแม้เห็ดจะขาดกรดอะมิโนบางตัวไปบ้าง แต่ในเรื่องของรสชาติและเนื้อสัมผัสนั้น รับรองว่าเห็ดไม่เป็นรองใครในยุทธจักรอาหารอย่างแน่นอน ที่สำคัญเห็ดยังให้คุณค่าทางโภชนาการและมีสรรพคุณทางยา ซึ่งมีคุณสมบัติที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย และช่วยลดอัตราความเสี่ยงจากโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน อัลไซเมอร์ หลอดเลือดหัวใจอุดตัน และความดันโลหิตสูง เป็นต้น
            เห็ดจัดเป็นอาหารประเภทผักที่ปราศจากไขมัน มีปริมาณน้ำตาลและเกลือค่อนข้างต่ำ และยังเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี เมื่อเทียบกับผักอีกหลายชนิด อีกทั้งยังมีรสชาติและกลิ่นที่ชวนรับประทาน ซึ่งรสชาติที่โดดเด่นนี้ มาจากการที่เห็ดมีกรดอะมิโนกลูตามิคเป็นองค์ประกอบ โดยกรดอะมิโนตัวนี้จะทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นประสาทการรับรู้รสอาหารของลิ้นให้ไวกว่าปกติ และทำให้มีรสชาติคล้ายกับเนื้อสัตว์ นอกจากนี้เห็ดยังอุดมไปด้วยวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินบีรวม (ไรโบฟลาวิน) และไนอาซิน ซึ่งจะช่วยควบคุมการทำงานของระบบย่อยอาหาร ในส่วนของเกลือแร่ เห็ดจัดเป็นแหล่งเกลือแร่ที่สำคัญ โดยมีเกลือแร่ต่างๆ เช่น ซิลิเนียม ทำหน้าที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โปแตสเซียม ทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ สมดุลของน้ำในร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาทต่างๆ ลดการเกิดโรคความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ และอัมพาต ส่วนทองแดง ทำหน้าที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของธาตุเหล็ก และที่สำคัญ เห็ดมีองค์ประกอบของพฤกษเคมีที่ชื่อว่าโพลีแซคคาไรด์”(Polysaccharide) จะทำงานร่วมกับแมคโครฟากจ์ (macrophage) ซึ่งเป็นเซลล์คุ้มกันขนาดใหญ่ที่ออกจากหลอดเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อและจะไปจับกับโพลีแซคคาไรด์ที่บริเวณกระเพาะอาหาร และนำไปส่งยังเซลล์คุ้มกันตัวอื่นๆ โดยจะช่วยกระตุ้นวงจรการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เสริมและช่วยเพิ่มปริมาณและประสิทธิภาพของเซลล์คุ้มกันธรรมชาติ ให้ทำหน้าที่ทำลายเซลล์แปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย รวมถึงพวกไวรัสและแบคทีเรียอื่นๆ ด้วย เห็ดที่มีปริมาณสารโพลีแซคคาไรด์สูง คือ เห็ดหอมหรือเห็ดชิตาเกะ เห็ดนางรม เห็ดหูช้าง และเห็ดกระดุม เป็นต้น และเห็ดอื่นๆ ที่นิยมนำมารับประทาน ได้แก่ เห็ดหลินจือ เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดกระดุมหรือแชมปิญอง เห็ดโคน และเห็ดเข็มทอง เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้เห็ดเป็นยาได้อีกด้วย ซึ่งสรรพคุณทางยาของเห็ดมีมากมาย เช่น ช่วยควบคุมการทำงานของอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ ปอด ตับ และระบบไหลเวียนของโลหิต เนื่องจากชาวจีนจัดเห็ดเป็นยาเย็น เพราะมีสรรพคุณช่วยลดไข้ เพิ่มพลังชีวิต ดับร้อนใน แก้ช้ำใน บำรุงร่างกาย ลดระดับน้ำตาล และคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด ลดความดัน ขับปัสสาวะ ช่วยให้หายหงุดหงิด บำรุงเซลล์ประสาท รักษาอาการอัลไซเมอร์ และที่สำคัญ คือ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
            ประโยชน์ทางการแพทย์ของเห็ดชนิดต่างๆ มีดังนี้             
            1. เห็ดหอม หรือเห็ดชิตาเกะเป็นยาอายุวัฒนะ เพราะช่วยลดไขมันในเส้นเลือด อีกทั้งยังเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสและมะเร็งด้วย และมีกรดอะมิโนถึง 21 ชนิด มีวิตามิน บี 1 บี 2 สูง พอๆ กับยีสต์ มีวิตามินดีสูงช่วยบำรุงกระดูกและมีปริมาณโซเดียมต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคไต นอกจากนี้ยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก ซึ่งช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ช่วยบำรุงกำลัง บรรเทาอาการไข้หวัด ชาวจีนยกให้เห็ดหอมเป็นอาหารต้นตำรับอมตะ
          2. เห็ดหูหนู เป็นกลุ่มคาร์โบไฮเดรต สามารถเพิ่มความแข็งแรงให้เม็ดเลือดขาวในผู้สูงอายุ ทำให้ภูมิต้านทานร่างกายดีขึ้น รวมทั้งช่วยรักษาโรคกระเพาะและริดสีดวง เห็ดหูหนูขาว ช่วยบำรุงปอดและไต
         3. เห็ดหลินจือ มีสารสำคัญ เบต้ากลูแคน ซึ่งมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง คนญี่ปุ่นมักใช้ควบคู่กับการรักษาโรคมะเร็งและโรคผู้สูงอายุ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคความดันโลหิตสูง
             4. เห็ดกระดุมหรือเห็ดแชมปิญอง รูปร่างกลมมน คล้ายกระดุมที่มีขนาดใหญ่ ผิวเนื้อนวล มีให้เลือกทั้งแบบสดหรือบรรจุกระป๋อง มีบทบาทในการรักษาและป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมมากที่สุด โดยสารบางอย่างในเห็ดนี้ไปช่วยยับยั้งเอนไซม์อะโรมาเตส (aromatase) ทำให้เกิดการยับยั้งการเปลี่ยนฮอร์โมนเอนโดรเจนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้น้อยลงก็ลดโอกาสการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมให้น้อยลงตามไปด้วย
          5. เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า และเห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดสามอย่างนี้อยู่ตระกูลเดียวกัน เจริญเติบโตเป็นช่อๆ คล้ายพัด เห็ดนางรมมีสีขาวอมเทา เห็ดนางฟ้ามีสีขาวอมน้ำตาล ขณะที่เห็ดเป๋าฮื้อจะมีสีคล้ำและเนื้อเหนียวหนาและนุ่มอร่อยคล้ายเนื้อสัตว์มากกว่า เชื่อว่าสามารถป้องกันโรคหวัด ช่วยการไหลเวียนเลือด และโรคกระเพาะ
            6. เห็ดฟาง เป็นเห็ดยอดนิยมของคนไทย นิยมเพาะกันบนกองฟางข้าวชื้นๆ โคนมีสีขาว ส่วนหมวกสีน้ำตาลอมเทา หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด ให้วิตามินซีสูง และมีกรดอะมิโนสำคัญอยู่หลายชนิด หากรับประทานเป็นประจำจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันการติดเชื้อต่างๆ อีกทั้งยังช่วยลดความดันโลหิตและเร่งการสมานแผล
        7.เห็ดหลินจือ นอกจากใช้รับประทานแล้ว ปัจจุบันยังมีการนำไปเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางค์อีกด้วย เพราะมีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้อร้าย รวมทั้งกระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัส
              8. เห็ดเข็มทอง เป็นเห็ดสีขาว หัวเล็กๆ ขึ้นติดกันเป็นแพ รสชาติเหนียวนุ่ม นำมารับประทานแบบสดๆ ใส่กับสลัดผักก็ได้ ถ้าชอบสุกก็นำไปย่าง ผัดหรือลวกแบบสุกี้ ถ้ากินเป็นประจำจะช่วยรักษาโรคตับ กระเพาะ และลำไส้อักเสบเรื้อรัง
           9. เห็ดโคน ช่วยเจริญอาหาร บำรุงกำลัง แก้บิด แก้คลื่นไส้ อาเจียน แก้ไอ ละลายเสมหะ การทดลองทางเภสัชศาสตร์พบว่าน้ำที่สกัดจากเห็ดโคนสามารถยับยั้งเชื้อโรคบางชนิด เช่น เชื้อไทฟอยด์
ชฎาพร นุชจังหรีด
ภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์
                                                
                                             มหัศจรรย์น้ำเห็ด 5 อย่าง


        ว่ากันว่าการที่ "เห็ด" เป็นอาหารมหัศจรรย์นั้น มีสาเหตุมาจากฤดูการเกิดที่ไม่เหมือนกับพืชผักชนิดอื่นๆ เพราะใช้เวลาเพาะเพียงสั้นๆ ในขณะที่จำนวนผลิตผลที่ได้นั้นมากมายดาษดื่นเหลือเกิน ถึงเวลางอกงามแต่ละทีก็ผุดขึ้นราวกับตั้งนาฬิกาปลุกธรรมชาติ พอใกล้เวลาก็มุดหายลงดิน เก็บตัวเงียบรอเวลาอีกครั้ง
            ปัจจุบันเห็ดที่เรานิยมรับประทานกันมีอยู่มากมายหลายชนิด มีทั้งแบบสด บรรจุกระป๋อง หรือแม้แต่เห็ดตากแห้ง ซึ่งความนิยมในการรับประทานมีมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยรูปแบบ และรสชาติเฉพาะตัวที่แตกต่างจากอาหารประเภทพืชผักด้วยกัน รวมทั้งการที่คนหันมานิยมรับประทานอาหารแบบมังสวิรัติกันมากขึ้น ก็ทำให้เห็ดถูกนำมาใช้ปรุงอาหารแทนเนื้อสัตว์มากขึ้นตามไปด้วย มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่าเห็ดมีคุณสมบัติป้องกันโรคได้
            ตัวอย่างเช่น  ในประเทศจีนและญี่ปุ่น นิยมนำเห็ดมาปรุงเป็นน้ำแกง น้ำชา ยาบำรุงร่างกาย และยารักษาโรคต่างๆ มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเห็ดมากว่า 30 ปียืนยันว่าในเห็ดมีสารบางอย่างที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ และช่วยในการต้านมะเร็งหลายๆ ชนิดได้ด้วย
        ด้วยคุณประโยชน์มากมายจาก  "เห็ด" ทำให้ สถานีฟาร์มเห็ด พัฒนาการแปรรูปผลผลิตจากเห็ดมาทำเป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ โดยเครื่องดื่มดังกล่าวสกัดมาจากเห็ดชนิด ซึ่งได้แก่ เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้าภูฏาน และเห็ดนางรมฮังการี เห็ดหูหนูดำ เห็ดหูหนูขาว และผสมน้ำผึ้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ช่วยในเรื่องเป็นยาอายุวัฒนะ
            เมื่อเห็ดทั้ง 5 รวมตัวกัน สกัดออกมาเป็นเครื่องดื่ม เเน่นอนว่าก่อนหน้านั้นทุกคนเห็นว่าเห็ดเพียงชนิดเดียวก็สามารถให้ประโยชน์แก่สุขภาพร่างการหลายด้านแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อของดีทั้ง 5 รวมตัวกันประโยชน์นานัปประการที่ผู้บริโภคจะได้รับนั้นย่อมเพิ่มขึ้นทวีคูณ เราลองมาวิเคราะห์ถึงประโยชน์แต่ละด้านที่จะได้รับจากเห็ดกันเลยดีกว่า
นานาสารอาหารจากเห็ด            - โปรตีน เมื่อนำเห็ด 5 อย่างมารวมกันประกอบอาหารแล้ว จะได้โปรตีนจากเห็ดที่ร่างกายดูดซึมไปใช้งานได้ง่ายที่สุด ง่ายกว่าเนื้อสัตว์ โปรตีนจากเห็ดจะไปสร้างกรดอะมิโนที่บำรุงสมองปรับสมดุลของการสร้างเซลล์ใหม่ในร่างกาย ต้านการเกิดมะเร็ง ขจัดสารพิษ
            - เห็ดเป็นอาหารที่ปราศจากไขมัน มีปริ มาณน้ำตาล และเกลือต่ำมาก แถมยังเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงเมื่อเทียบกับโปรตีนที่ได้จากเนื้อสัตว์ มีธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินซี วิตามินบีรวม ซีลีเนียม โปแตสเซียม และทองแดง จึงเป็นอาหารที่มีคุณค่าสูงที่ควรเลือกรับประทานเป็นประจำ
            - ซีลีเนียม เป็นสารอาหารที่ช่วยต้านการเกิดอนุมูลอิสระใกล้เคียงกับวิตามินอี ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งและโรคภัยต่างๆ ที่มากับวัยสูงอายุ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ การรับประทานเห็ดหอม (ชิ้นขนาดกลางๆ 5 ชิ้น) จะให้ซีลีเนียมประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน นอกจากในเห็ดแล้วยังมีอยู่ในธัญพืชและเนื้อสัตว์ด้วย
            - โปแตสเซียม เป็นสารอาหารที่จำเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ความสมดุลของน้ำในร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อ และระบบประสาทต่างๆ ทาง FDA ของสหรัฐอเมริการะบุไว้ว่าการรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของโปแตสเซียมจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความดันเลือดสูง และอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งในเห็ดนั้นมีโปแตสเซียมสูง และโซเดียมต่ำ การรับประทานอาหารที่ปรุงจากเห็ดกระดุมหรือเห็ดแชมปิญอง 1 จานจะให้โปแตสเซียมได้พอๆ กับส้มหรือมะเขือเทศลูกโตๆ เลยทีเดียว
            - วิตามินบีรวม ในเห็ดขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบีรวม ไม่ว่าจะเป็น ไรโบฟลาวิน (ที่นอกจากจะได้จากเห็ดแล้ว ยังมีมากในเครื่องในสัตว์ นม ไข่ และเต้าหู้) ช่วยบำรุงสุขภาพผิวพรรณและการมองเห็น ขณะที่ไนอาซิน (ยังพบมากในปลาทูน่า เนื้อแดง ถั่วลิสง และอะโวคาโด) จะช่วยควบคุมการทำงานของระบบย่อยอาหาร และระบบประสาท สถาบันอาหารแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประมาณไว้ว่า การรับประทานเห็ดแชมปิญองขนาดกลางๆ 5 ชิ้น จะได้ปริมาณไรโบฟลาวินมากพอๆ กับการดื่มนมสดถึง 8 ออนซ์
            - ทองแดง เป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการเช่นเดียวกัน เพื่อมาช่วยเสริมการทำงานของ ธาตุเหล็ก

ที่มา : สถานีเห็ด


เห็ดนางฟ้า


เห็ดนางฟ้ามีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกับเห็ดนางรม เห็ดทั้งสองชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์ (family) เดียวกัน    ชื่อ "เห็ดนางฟ้า" เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นในเมืองไทย คนไทยบางคนเรียกว่าเห็ดแขก เนื่องจากมีผู้พบเห็นเห็ดนี้ครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย พบขึ้นตามธรรมชาติบนตอไม้เนื้ออ่อนที่กำลังผุ ในแถบเมืองแจมมู (Jammu) บริเวณเชิงเขาหิมาลัย ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Pleurotus sajor-caju (Fr.) Singer

เห็ดนางฟ้าถูกนำไปเลี้ยงในอาหารวุ้นเป็นครั้งแรกโดย Jandaik ในปี .. 1947 ต่อมา Rangaswami และ Nadu แห่ง Agricultural University, Coimbattore ในอินเดียเป็นผู้นำเชื้อบริสุทธิ์ของเห็ดนางฟ้าเข้ามาฝากไว้ที่ American Type Culture Collection (ATCC) ในอเมริกาเมื่อปี .. 1975 ได้ทราบว่าประมาณปี .. 1977 ทางกองวิจัยโรคพืช กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้นำเชื้อจาก ATCC เข้ามาประเทศไทยเพื่อทดลองเพาะดู ปรากฏว่าสามารถเจริญได้ดี

อีกสายพันธุ์หนึ่ง เป็นเห็ดที่มีผู้นำเข้ามาจากประเทศภูฐาน มาเผยแพร่แก่นักเพาะเห็ดไทย ได้มีการเรียกชื่อเห็ดนี้ว่า เห็ดนางฟ้าภูฐาน มีหลายสายพันธุ์ซึ่งชอบอุณหภูมิที่แตกต่างกัน บางพันธุ์ออกได้ดีในฤดูร้อน บ้างพันธุ์ออกได้ดีในฤดูหนาว เป็นที่นิยมมาเพาะเป็นการค้ากันมาก

ลักษณะของดอกเห็ดนางฟ้า มีลักษณะคล้ายกับดอกเห็ดเป๋าฮื้อ และดอกเห็ดนางรม เมื่อเปรียบเทียบกับเห็ดเป๋าฮื้อ ดอกเห็ดนางฟ้าสีจะอ่อนกว่า และมีครีบอยู่ชิดกันมากกว่า เห็ดนางฟ้าสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นนานได้หลายวัน เช่นเดียวกับเห็ดเป๋าฮื้อ เนื่องจากเห็ดชนิดนี้ไม่มีการย่อตัวเหมือนกับเห็ดนางรม ด้านบนของดอกจะมีสีนวลๆ ถึงสีน้ำตาลอ่อน

เห็ดนางฟ้ามีรสอร่อย เวลานำไปปรุงอาหารจะมีกลิ่นชวนรับประทาน เห็ดชนิดนี้สามารถนำไปตากแห้ง เก็บไว้เป็นอาหารได้ เมื่อจะนำเห็ดมาปรุงอาหาร ก็นำไปแช่น้ำเห็ดจะคืนรูปเดิมได้
เห็ดนางฟ้าจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศมาก กล่าวคือ เมื่ออากาศปกติการบ่มเชื้อจะใช้เวลาประมาณ 20-25 วัน แต่หากเป็นช่วงฤดูหนาวหนาวจะใช้เวลาในการบ่มเชื้อเพียง 15-20 วันเท่านั้น และในช่วงเวลาอากาศเย็นจะออกดอกเร็ว ดอกมีสีเข้ม แต่ถ้าในช่วงหน้าร้อนจะออกดอกช้า และดอกมีสีจางลง

คุณค่าทางโภชนาการของเห็ดนางฟ้าหนัก 100 กรัม

พลังงาน 260.70 กิโลแคลอรี่
ความชื้น 88.90 %
โปรตีน 25.8 %
คาร์โบไฮเดรต 45.60 %
ไขมัน 4.1 %
เยื่อใย 8.6 %
เถ้า 11.8 %

เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดที่มีขนาดของดอกปานกลาง เนื้อแน่น รสชาติดี กรอบ อร่อย มีไขมันต่ำ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงเป็นที่นิยมของตลาดและผู้บริโภคโดยทั่วไป
ข้อมูลอ้างอิง : กรมวิชาการเกษตร



เห็ดนางรมฮังการี           
                
"เห็ดนางรม" (Oyster Mushroom ) เป็นเห็ดที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางถิ่นประเทศแถบยุโรป เห็ดพวกนี้เจริญเติบโต ได้ดีในพวกไม้โอ๊ค (oak) ไม้เมเปิ้ล (maple) ไม้พืช (peach) ฯลฯ และสามารถเจริญเติบโตได้ทั่วไปในเขตอบอุ่น ต่อมาได้มีการนำเข้ามาทดลองเพาะเลี้ยงในประเทศไทย พบว่า  เห็ดชนิดนี้สามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย จึงได้มีการเผยแพร่วิธีการเพาะเห็ดชนิดนี้จนเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป เห็ดนางรมจัดเป็นเห็ดที่ประชาชนนิยมรับประทานกันมาก ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดนางรมมีลักษณะคล้ายเห็ดมะม่วง หรือเห็ดขอนขาวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติบนตอไม้ที่ผุพัง ประกอบกับเห็ดนางรมเป็นเห็ดที่มีสีขาวสะอาดมีคุณค่าทางอาหารสูงและมีรสชาติหอมหวาน นอกจากนี้เนื้อของเห็ดนางรมยังไม่เหนียวมากเหมือนเห็ดมะม่วงหรือเห็ดขอนขาว ที่สำคัญคือ "เห็ดนางรม" มีสารบางอย่างที่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคไม่แพ้เห็ดชนิดอื่นๆ จึงทำให้ประชาชนรู้จักเห็ดชนิดนี้เป็นอย่างดี            เห็ดนางรม หรือOyster mushroom จัดได้ว่าเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางอาหารสูงโดยเฉพาะ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน ไม่แพ้เห็ดชนิดอื่นๆ นอกจากนี้เห็ดนางรมยังให้ปริมาณแร่ธาตุหลายชนิด เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปแตสเซี่ยม และยังให้พลังงานค่อนข้างสูง เห็ดนางรม มีวิตามินบี 1 วิตามินบีสูงกว่าเห็ดชนิดอื่นๆ และยังมีกรดโฟลิคสูงกว่าพืชผักและเนื้อสัตว์กรด พวกนี้ช่วยป้องกันรักษาโรคโลหิตจางได้ จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และยังเหมาะต่อผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักเพราะเห็ดมีปริมาณของไขมันน้อยและมีปริมาณโซเดียมต่ำ จึงเหมาะที่จะใช้เป็นอาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจและโรคไตอักเสบ ประกอบกับเห็ดนางรมที่เพาะง่าย สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย จึงได้มีการเพาะเห็ดนี้กันอย่างแพร่หลาย

คุณค่าอาหาร

เห็ดนางรม 100 กรัม ให้พลังงาน 30 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย 
     โปรตีน 2.1 กรัม
     ไขมัน 0.3 กรัม
     คาร์โบไฮเดรต 4.8 กรัม
     แคลเซียม 4 มิลลิกรัม
     ฟอสฟอรัส 61 มิลลิกรัม
     เหล็ก 0.3 มิลลิกรัม
     ไนอะซิน 2.7 มิลลิกรัม
      วิตามินซี 21 มิลลิกรัม

วิธีการเพาะ            
         1. ผสมวัสดุเพาะทั้งหมดเข้าด้วยกัน และทดสอบความชื้นให้พอเหมาะโดยจะมีความชื้นประมาณ 75 - 80%
       2. บรรจุวัสดุเพาะลงในถุง ถ้าเป็นวัสดุเพาะเป็นขี้เลื่อยใช้ถุงขนาด 6.5x12.5 นิ้ว หนัก 800 - 1,000 กรัม ถ้าวัสดุเพาะเป็นฟางหมักควรใช้ถุงขนาด 7x13 นิ้ว แล้วอัดวัสดุให้แน่น แต่ละถุงจะมีน้ำหนักประมาณ ถ้าเป็นฟางหมัก 6-8 ขีด ถ้าเป็นขี้เลื่อยประมาณ 600 - 800 กรัม เสร็จแล้วใส่คอขวดรัดด้วยยางรัดปิดด้วยจุกสำลี
           3. นำถุงก้อนเห็ดที่บรรจุแล้วไปนึ่งฆ่าเชื้อ โดยใช้หม้อนึ่ง 2 แบบ คือ
                3.1 หม้อนึ่งฆ่าเชื้อแบบลูกทุ่ง หรือหม้อนึ่งไม่อัดความดัน โดยใช้ถัง 200 ลิตร บรรจุครั้งละ 100 ถุง นึ่งนาน 1.5-2 ชั่วโมง หรือหม้อนึ่งที่ประกอบด้วยเหล็กแผ่นเป็นรูปสี่เหลี่ยมบรรจุถุงได้ตั้งแต่ 500-5,000 ถุง โดยใช้ระยะเวลาในการนึ่งประมาณ 4-10 ชั่วโมง
                 3.2 การนึ่งแบบมีความดัน จะเป็นถังที่สามารถทนความร้อนสูงได้ 121 องศาเซลเซียส และมีความดันประมาณ 15 - 18 ปอนด์/ตารางนิ้ว ใช้เวลาในการนึ่งประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง
การปลูกเชื้อเห็ดลงถุง            เปิดจุกสำลีออกแล้วใช้เชื้อเห็ดในเมล็ดธัญพืชหยอดลงไปประมาณ 20 เมล็ด แล้วปิดด้วยกระดาษนำไปบ่มให้เส้นใยเห็ดเดินต่อไป ระยะเวลาการบ่มเส้นใย เห็ดนางรมและนางฟ้าภูฐาน จะใช้เวลาประมาณ 25-30 วัน ส่วนเห็ดนางฟ้าและเห็ดเป๋าฮื้อ จะใช้เวลา ประมาณ 45 - 50 วัน
การเปิดดอก            เมื่อเส้นใยเห็ดเดินเต็มถุงหรือใช้เวลาในการบ่มได้ที่แล้ว นำถุงก้อนเชื้อเห็ดเข้าในโรงเรือนเปิดดอกและดึงกระดาษที่ปิดหน้าถุงออก เพิ่มความชื้นภายในโรงเรือนให้ได้ ประมาณ 80 - 85% โดยการฉีดพ่นน้ำ เป็นละอองฝอย วันละ 2 - 3 ครั้ง จากนั้นประมาณ 7 - 10 วัน ดอกเห็ดก็จะเริ่มออกและเก็บได้ ก่อนเก็บผลผลิต ควรงดการให้น้ำเพราะเห็ดจะเปียกชื้นไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
การเก็บเกี่ยว
     ทำการดึงดอกเห็ดที่ออกจากหน้าถุงเมื่อโตเต็มที่อยู่ในระยะที่ยังไม่บาน สังเกตจากขอบดอกเห็ดยังงุ้มอยู่ โดยดึงดอกเห็ดให้หลุดออกจากถุงทั้งกลุ่มไม่ให้เหลือโคนติดที่ถุง เพราะจะทำให้หน้าถุงเน่าทำให้มีเชื้อราอื่นหรือมีแมลงหวี่เข้าทำลาย
Credit : สถานีเห็ด



เห็ดโคนน้อย


เห็ดโคนน้อย (Coprinus spp.) จัดเป็นราชั้นสูง แต่เป็นคนละชนิดกับเห็ดโคนธรรมชาติหรือเห็ดปลวก (Termitomyces spp.)มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปเนื่องจากมีการกระจายพันธุ์ทั่วทุก ภาคของประเทศไทย มีชื่อเรียกตามวัสดุเพาะ เช่น เห็ดถั่ว เห็ดถั่วเหลืองหรือ เห็ดถั่วเน่า เห็ดโคนน้อย เห็ดโคนบ้าน เห็ดโคนขาว(ภาคเหนือ) เห็ดคราม เห็ดปลวกน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)เห็ดโคนเพาะ เห็ดโคนน้อย เห็ดหมึก(ภาคกลาง)

เห็ดโคนน้อยเป็นเห็ดที่ขึ้นลักษณะคล้ายเห็ดโคน เมื่อดอกเห็ดเจริญเต็มที่จะคล้ายร่มพับ ปลายแหลมมน ผิวมีสีน้ำตาลอ่อน ไปจนกระทั่งขาวตรงปลายหมวกดอก มีขนาดตั้งแต่ 0.5-1.5 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ความแข็งแรงของดอกเห็ดและสภาพแวดล้อม เมื่อดอกเห็ดแก่ หมวกดอกจะบาง สีคล้ำ หมวกดอกจะกางออก จนกระทั่งแก่เต็มที่หมวกดอกจะบางมาก สร้างสปอร์สีเทาเยิ้ม จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นสีดำและเน่าเละไปในที่สุด

เห็ดโคนน้อยเป็นเห็ดที่ขึ้นง่าย มีคุณค่าทางอาหารสูง แล้วยังพบว่ามีสรรพคุณทางสมุนไพร ช่วยในการย่อยอาหารและลดเสมหะ ถ้าตำให้ละเอียดใช้พอกภายนอกจะช่วยบรรเทาอาการปวดต่างๆ ได้ มีรายงานวิจัยที่แสดงว่าเห็ดนี้สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง sarcoma 180 และ เซลล์มะเร็ง Ehrlich carcinoma ได้สูง 90 และ100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับและยังพบว่ามีสารออกฤทธิ์ต้านเชื้อราได้อีกด้วย

เห็ดโคนน้อยที่เพาะกันทั่วไปที่มีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่แน่นอนแล้วจะไม่มี สารพิษ เนื่องจากความนิยมบริโภคเห็ดโคนของประชาชนทั่วไปมีสูง เพราะเป็นเห็ดที่มีรสชาติอร่อย อุดมด้วยโปรตีนและคุณค่าทางอาหารสูง และมีราคาค่อนข้างสูง แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ เพราะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบว่ามีความสัมพันธ์กับปลวก และจะพบขึ้นในช่วงปลายฤดูฝน ประมาณกันยายน ถึงตุลาคม

พื้นฐานวิธีการเพาะก็คล้ายๆ กับเห็ดฟางนั่นเองซึ่งทำได้ง่ายและให้ผลผลิตค่อนข้างดี สำหรับวัสดุเพาะใช้ได้ทั้งต้นและใบของถั่วแห้ง ต้นข้าวโพด ฟางข้าว ผักตบชวาแห้ง ต้นและใบของกล้วย เปลือกมันสำปะหลัง ซากทะลายปาล์มน้ำมัน กาบมะพร้าว ชานอ้อย ขี้ฝ้ายและไส้นุ่น สามารถเพาะได้ตลอดทั้งปี เก็บผลผลิตได้ภายใน 5-6 วัน

การดูแลรักษาการเพาะเห็ดทุกชนิดจะมีปัญหาเรื่องไร ควรใช้สารไล่แมลงที่สกัดจากพืชเช่นสารสกัดจากสะเดา ตะไคร้หอม หรือใช้ต้นสาบแร้งสาบกาแขวนในโรงเรือน ไม่ควรใช้สารเคมีฉีดพ่นเพราะทำให้เห็ดฝ่อ ไม่ออกดอกและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค หลังเพาะเห็ดหมด 1 รุ่น ควรทำความสะอาดโรงเรือน โดยการโรยปูนขาวที่พื้นและรมควันเพื่อไล่แมลงศัตรูเห็ด

ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเพาะเห็ดโคนน้อยโดยทั่วไปคือการสลายตัวง่าย ของดอกเห็ด จึงมีระยะเวลาในการให้ผลผลิตค่อนข้างสั้น ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดโคนน้อยมีการ เจริญเร็ว ส่วนของครีบจะสลายกลายเป็นของเหลวสีดำคล้ายหมึกเป็นผลมาจากการย่อยตัวเอง ของเหลวจากการสลายตัวนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เช่นในต่างประเทศนำมาทำน้ำ หมึกเพื่อทำต้นฉบับเอกสารพิเศษเพื่อป้องกันการปลอมแปลง จากการศึกษาพบว่าดอกเห็ดเมื่อเจริญเต็มที่จะสลายตัวภายใน 16 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเร็วกว่าที่ 30 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสลายตัวใช้เวลา 18 ชั่วโมง และที่อุณหภูมิ 27+/- 2 องศาเซลเซียส ซึ่งใช้เวลา 20 ชั่วโมง

สำหรับปัญหาของการย่อยสลายตัวเองของเห็ดโคนน้อยก็สามารถแก้ปัญหาได้โดย เมื่อเก็บดอกเห็ดมาแล้วก็นำไปแปรรูปเป็นเห็ดโคนน้อยบรรจุขวด โดยนำเห็ดที่เกลาแล้วมาล้างให้สะอาด แล้วนำไปลวกน้ำร้อนให้สุกปล่อยให้สะเด็ดน้ำ 5 นาที นำไปบรรจุลงขวดที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้วเติมน้ำเกลือเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์ จนเต็มแล้วนำไปนึ่งต่ออีก 10-25 นาที ปิดฝาขวดแล้วนำไปใส่หม้อนึ่งความดันไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้ออีก 30 นาที เมื่อเย็นแล้วปิดผนึกฝาขวดก็สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 2 ปี นอกจากนี้ก็ยังมีผู้นำมาแปรรูปในลักษณะอื่นๆ อีกเช่นเห็ดอบแห้ง เห็ดทุบเป็นต้น
ข้อดีของการเพาะเห็ดโคนน้อยแบบโรงเรือน สรุปสั้นๆได้ดังนี้

1.ได้เห็ดโคนหรือเห็ดถั่ว ที่มีรสชาติอร่อยไม่แพ้เห็ดโคน
2.ขบวนการและกรรมวิธีในการเพาะไม่ยุ่งยาก ลงทุนต่ำ โดยไม่จำเป็นต้องใช้โรงเรือนก็ได้เทคนิคในการเพาะแตกต่างกันออกไป แต่โดยพื้นฐานวิธีการเพาะก็คล้ายๆกับเห็ดฟาง
3.ให้ผลผลิตค่อนข้างสูงแน่นอนและสม่ำเสมอ อัตราการให้ดอกเห็ดจากการเพาะด้วยฟาง 1 กิโลกรัม จะได้ดอกเห็ดโคนน้อย 1 กิโลกรัม
4.สามารถใช้วัสดุที่มีราคาถูกได้หลายอย่างในการเพาะ เช่น ฟางข้าว ขี้ฝ้าย ไส้นุ่น ต้นและใบของถั่วต่างๆ ผักตบชวา ต้นและ ใบกล้วย เปลือกมันสัมปะหลัง ซากทะลายปาล์มน้ำมัน กาบมะพร้าว ชานอ้อย หรือวัสดุที่ใช้เพาะเห็ดอย่างอื่นแล้ว
5.สามารถเพาะได้ตลอดทั้งปี และใช้เวลาในการเพาะสั้น สามารถเก็บผลผลิตได้ภายใน 5-6 วัน
6.เพาะได้ในพื้นที่ที่จำกัด (หลังจากเก็บผลผลิต เอาปุ๋ยหมักเก่าออกและทำความสะอาดแล้ว ก็สามารถเพาะต่อในที่เดิมได้เลย)
7.ปัญหาเรื่องแมลงศัตรูมีน้อย
8.คุณภาพดอกเห็ดดีกว่าการเพาะแบบพื้นบ้าน


Article Credit : สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเกษตรศาสตร์