เห็ดโคนน้อย


เห็ดโคนน้อย (Coprinus spp.) จัดเป็นราชั้นสูง แต่เป็นคนละชนิดกับเห็ดโคนธรรมชาติหรือเห็ดปลวก (Termitomyces spp.)มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปเนื่องจากมีการกระจายพันธุ์ทั่วทุก ภาคของประเทศไทย มีชื่อเรียกตามวัสดุเพาะ เช่น เห็ดถั่ว เห็ดถั่วเหลืองหรือ เห็ดถั่วเน่า เห็ดโคนน้อย เห็ดโคนบ้าน เห็ดโคนขาว(ภาคเหนือ) เห็ดคราม เห็ดปลวกน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)เห็ดโคนเพาะ เห็ดโคนน้อย เห็ดหมึก(ภาคกลาง)

เห็ดโคนน้อยเป็นเห็ดที่ขึ้นลักษณะคล้ายเห็ดโคน เมื่อดอกเห็ดเจริญเต็มที่จะคล้ายร่มพับ ปลายแหลมมน ผิวมีสีน้ำตาลอ่อน ไปจนกระทั่งขาวตรงปลายหมวกดอก มีขนาดตั้งแต่ 0.5-1.5 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ความแข็งแรงของดอกเห็ดและสภาพแวดล้อม เมื่อดอกเห็ดแก่ หมวกดอกจะบาง สีคล้ำ หมวกดอกจะกางออก จนกระทั่งแก่เต็มที่หมวกดอกจะบางมาก สร้างสปอร์สีเทาเยิ้ม จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นสีดำและเน่าเละไปในที่สุด

เห็ดโคนน้อยเป็นเห็ดที่ขึ้นง่าย มีคุณค่าทางอาหารสูง แล้วยังพบว่ามีสรรพคุณทางสมุนไพร ช่วยในการย่อยอาหารและลดเสมหะ ถ้าตำให้ละเอียดใช้พอกภายนอกจะช่วยบรรเทาอาการปวดต่างๆ ได้ มีรายงานวิจัยที่แสดงว่าเห็ดนี้สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง sarcoma 180 และ เซลล์มะเร็ง Ehrlich carcinoma ได้สูง 90 และ100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับและยังพบว่ามีสารออกฤทธิ์ต้านเชื้อราได้อีกด้วย

เห็ดโคนน้อยที่เพาะกันทั่วไปที่มีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่แน่นอนแล้วจะไม่มี สารพิษ เนื่องจากความนิยมบริโภคเห็ดโคนของประชาชนทั่วไปมีสูง เพราะเป็นเห็ดที่มีรสชาติอร่อย อุดมด้วยโปรตีนและคุณค่าทางอาหารสูง และมีราคาค่อนข้างสูง แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ เพราะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบว่ามีความสัมพันธ์กับปลวก และจะพบขึ้นในช่วงปลายฤดูฝน ประมาณกันยายน ถึงตุลาคม

พื้นฐานวิธีการเพาะก็คล้ายๆ กับเห็ดฟางนั่นเองซึ่งทำได้ง่ายและให้ผลผลิตค่อนข้างดี สำหรับวัสดุเพาะใช้ได้ทั้งต้นและใบของถั่วแห้ง ต้นข้าวโพด ฟางข้าว ผักตบชวาแห้ง ต้นและใบของกล้วย เปลือกมันสำปะหลัง ซากทะลายปาล์มน้ำมัน กาบมะพร้าว ชานอ้อย ขี้ฝ้ายและไส้นุ่น สามารถเพาะได้ตลอดทั้งปี เก็บผลผลิตได้ภายใน 5-6 วัน

การดูแลรักษาการเพาะเห็ดทุกชนิดจะมีปัญหาเรื่องไร ควรใช้สารไล่แมลงที่สกัดจากพืชเช่นสารสกัดจากสะเดา ตะไคร้หอม หรือใช้ต้นสาบแร้งสาบกาแขวนในโรงเรือน ไม่ควรใช้สารเคมีฉีดพ่นเพราะทำให้เห็ดฝ่อ ไม่ออกดอกและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค หลังเพาะเห็ดหมด 1 รุ่น ควรทำความสะอาดโรงเรือน โดยการโรยปูนขาวที่พื้นและรมควันเพื่อไล่แมลงศัตรูเห็ด

ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเพาะเห็ดโคนน้อยโดยทั่วไปคือการสลายตัวง่าย ของดอกเห็ด จึงมีระยะเวลาในการให้ผลผลิตค่อนข้างสั้น ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดโคนน้อยมีการ เจริญเร็ว ส่วนของครีบจะสลายกลายเป็นของเหลวสีดำคล้ายหมึกเป็นผลมาจากการย่อยตัวเอง ของเหลวจากการสลายตัวนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เช่นในต่างประเทศนำมาทำน้ำ หมึกเพื่อทำต้นฉบับเอกสารพิเศษเพื่อป้องกันการปลอมแปลง จากการศึกษาพบว่าดอกเห็ดเมื่อเจริญเต็มที่จะสลายตัวภายใน 16 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเร็วกว่าที่ 30 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสลายตัวใช้เวลา 18 ชั่วโมง และที่อุณหภูมิ 27+/- 2 องศาเซลเซียส ซึ่งใช้เวลา 20 ชั่วโมง

สำหรับปัญหาของการย่อยสลายตัวเองของเห็ดโคนน้อยก็สามารถแก้ปัญหาได้โดย เมื่อเก็บดอกเห็ดมาแล้วก็นำไปแปรรูปเป็นเห็ดโคนน้อยบรรจุขวด โดยนำเห็ดที่เกลาแล้วมาล้างให้สะอาด แล้วนำไปลวกน้ำร้อนให้สุกปล่อยให้สะเด็ดน้ำ 5 นาที นำไปบรรจุลงขวดที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้วเติมน้ำเกลือเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์ จนเต็มแล้วนำไปนึ่งต่ออีก 10-25 นาที ปิดฝาขวดแล้วนำไปใส่หม้อนึ่งความดันไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้ออีก 30 นาที เมื่อเย็นแล้วปิดผนึกฝาขวดก็สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 2 ปี นอกจากนี้ก็ยังมีผู้นำมาแปรรูปในลักษณะอื่นๆ อีกเช่นเห็ดอบแห้ง เห็ดทุบเป็นต้น
ข้อดีของการเพาะเห็ดโคนน้อยแบบโรงเรือน สรุปสั้นๆได้ดังนี้

1.ได้เห็ดโคนหรือเห็ดถั่ว ที่มีรสชาติอร่อยไม่แพ้เห็ดโคน
2.ขบวนการและกรรมวิธีในการเพาะไม่ยุ่งยาก ลงทุนต่ำ โดยไม่จำเป็นต้องใช้โรงเรือนก็ได้เทคนิคในการเพาะแตกต่างกันออกไป แต่โดยพื้นฐานวิธีการเพาะก็คล้ายๆกับเห็ดฟาง
3.ให้ผลผลิตค่อนข้างสูงแน่นอนและสม่ำเสมอ อัตราการให้ดอกเห็ดจากการเพาะด้วยฟาง 1 กิโลกรัม จะได้ดอกเห็ดโคนน้อย 1 กิโลกรัม
4.สามารถใช้วัสดุที่มีราคาถูกได้หลายอย่างในการเพาะ เช่น ฟางข้าว ขี้ฝ้าย ไส้นุ่น ต้นและใบของถั่วต่างๆ ผักตบชวา ต้นและ ใบกล้วย เปลือกมันสัมปะหลัง ซากทะลายปาล์มน้ำมัน กาบมะพร้าว ชานอ้อย หรือวัสดุที่ใช้เพาะเห็ดอย่างอื่นแล้ว
5.สามารถเพาะได้ตลอดทั้งปี และใช้เวลาในการเพาะสั้น สามารถเก็บผลผลิตได้ภายใน 5-6 วัน
6.เพาะได้ในพื้นที่ที่จำกัด (หลังจากเก็บผลผลิต เอาปุ๋ยหมักเก่าออกและทำความสะอาดแล้ว ก็สามารถเพาะต่อในที่เดิมได้เลย)
7.ปัญหาเรื่องแมลงศัตรูมีน้อย
8.คุณภาพดอกเห็ดดีกว่าการเพาะแบบพื้นบ้าน


Article Credit : สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเกษตรศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น